หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 เรื่อง เกร็ดความรู้จากสาส์นสมเด็จ

สื่อการเรียนการสอนออนไลน์
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี
วิชาดนตรีไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 
เรื่อง "เกร็ดความรู้จากสาส์นสมเด็จ"

-----------------------------------------------------------------------------
คำชี้แจง
1.ศึกษาเกร็ดความรู้จากสาส์นสมเด็จ เรื่อง "เพลงเรื่องบัวลอยประโคมศพ"
2.ศึกษาตัวอย่างการบรรเลงวงบัวลอยจากสื่อวิดีโอที่ครูกำหนดให้
3.ทำแบบทดสอบหลังเรียน เรื่อง 
เพลงเรื่องบัวลอยประโคมศพ

----------------------------------------------------------------------------


        "สาส์นสมเด็จ" เป็นการแลกเปลี่ยนแบ่งปันและโต้ตอบ ระหว่าง สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กับพระยาอนุมานราชธน เป็นความรู้ความเข้าใจในเชิงประวัติศาสตร์และพัฒนาการของงานดนตรีด้วย นักเรียนควรศึกษาบันทึกนี้ไว้ เนื่องจากมีประเด็นที่สอดคล้องกับเนื้อหาในบทเรียน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของบทเพลงและวงดนตรีประเภทต่าง ๆ ปัจจัยในการสร้างสรรค์งานดนตรี เป็นเกร็ดความรู้ทางดนตรีจากนักปราชญ์ผู้ซึ่งได้รับยกย่องเป็นอย่างมาก 
        เกร็ดความรู้จากสาส์นสมเด็จที่ครูนำมาให้นักเรียนได้ศึกษา คัดมากจากหนังสือ "เพลงดนตรี : จาก สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ถึง พระยาอนุมานราชธน" เรื่อง "เพลงเรื่องบัวลอยประโคมศพ" มีเนื้อหาดังนี้


----------------------------------------------------------------------------

เพลงเรื่องบัวลอยประโคมศพ

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
        ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวัน 2 และวันที่ 4 ไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้
        ข้าพระพุทธเจ้าสอบเรื่องประโคมศพได้มาดังนี้
        ครั้งโบราณการประโคมศพตามปรกติใช้กลองมลายู 2 คู่ ปี่ 1 และฆ้องเหม่ง 1 เรียกกันสามัญว่ากลองสี่ปี่หนึ่ง ประโคมเป็นเพลงบัวลอย เป็นระยะทุกยามตลอดรุ่ง เดี๋ยวนี้เล่นเพียง 2 ยาม ไปประโคมอีกครั้งเมื่อย่ำรุ่ง ระหว่างประโคม ถ้ามีผู้อยากฟังเพลงอื่น ๆ ก็เล่นให้ได้
        ในเวลานี้การเล่นเพลงบัวลอยประโคมศพ ใช้กลองมลายูคู่ 1 ปี่ 1 และฆ้องเหม่ง 1 เพลงที่ใช้เล่นเป็นพื้น มีชื่อโดยลำดับ คือ บัวลอย นางหน่าย กระดี้รี นางหงส์ หกคะเมน ไต่ลวด (หกเขมรตีลังกา ข้าพระพุทธเจ้าเคยค้นหาเหตุไม่พบ ดูเป็นหกของเขมรและตีของลังกา) เพลงเหล่านี้ใช้เป็นประโคมทั่วไป จะแทรกเพลงอื่นในระหว่างเมื่อเวลาพระสวดจบเป็นคราว ๆ ไปก็ได้
        เพลงทุบมะพร้าว แร้งกระพือปีก กาจับปากโลง ชักฟืนสามดุ้น ไฟชุม เพลงเหล่านี้ใช้ประโคมในเวลาเผา แต่เวลาจุดไฟใช้เพลงบัวลอย การบรรเลงจะแทรกเพลงอื่นก็ได้ ห้ามแต่เพลงมงคล เช่น มหาฤกษ์ มหาชัย สาธุการ เทวาประสิทธิ์ ตระนิมิต เป็นต้น
        เวลาทำเพลงขณะพระฉันเช้า ไม่จำกัดเพลง โดยมากใช้เพลงฉิ่งชั้นเดียวหรือเพลงฉิ่งพระฉัน ถ้าฉันเพลเล่นเพลงกระบอกซึ่งเป็นประเภทเพลงเรื่อง ถ้ามีร้องส่งก็เปลี่ยนเป็นเล่นเพลงประเภทเสภาจำพวก 3 ชั้น
        ชื่อเพลงที่เขาบอกข้าพระพุทธเจ้า ลางเพลงข้าพระพุทธเจ้าก็เพิ่งได้ยินชื่อ สอบถาม ก็ปรากฏว่ามีผู้เล่นไม่ได้หมดทุกเพลงเห็นจะสูญ เพราะในเวลานี้ปี่พาทย์ที่เขาจ้างไปประโคมศพก็เล่นแต่ทำนองเพลงนางหงส์ 2 ชั้น เมื่อเริ่มประโคมต่อจากทำเพลงบัวลอย ต่อนั้นไปก็ทำเพลงต่าง ๆ เป็นเพลงตับหรือออกเป็นเพลงภาษาเท่านั้น

พระยาอนุมานราชธน
7 มีนาคม 2482

พระยาอนุมานราชธน
        หนังสือของท่านลงวันที่ 7 มีนาคม ได้รับแล้ว
        ในการที่ท่านสืบเอาชื่อเพลงมาจดเก็บไว้นั้น ฉันคิดยังไม่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์อะไรหรือไม่ กลัวจะเหมือนกับเล่นปลอกบุหรี่ ซึ่งไม่ได้ความรู้อะไรในนั้น ผิดกันกับเล่นแสตมป์ นั่นได้ความรู้ว่าเมืองใดเข้าอยู่ในสัญญาสากลไปรษณีย์บ้าง และเมืองใดตั้งการไปรษณีย์ขึ้นเมื่อไร ออกแสตมป์มากี่คราวแล้ว คราวหนึ่งเป็นชุดละกี่ดวง ย่อมเป็นประวัติให้ความรู้อยู่ทั้งนั้น
        อันเพลงปี่พาทย์นั้นได้อธิบายให้ฟังแล้วว่าแต่ก่อนเป็นเพลงเรื่อง มีแต่ชื่อเรื่อง ครั้งตัดเอาท่อนใดหรือตอนใดไปใช้อะไรเป็นพิเศษ ก็ตั้งชื่อขึ้นเป็นพิเศษเหมือนกัน ผู้รู้ตั้งก็มี ลิงค่างบ่างชะนีอะไรตั้งให้ก็มี โดยมากมักเป็นไปตามเหตุ เช่น เพลงที่เรียกชื่อว่าหกคะเมนไต่ลวด ก็เพราะใช้เพลงนั้นประโคมเมื่อหกคะเมนไต่ลวดกัน ลางพวกเขาเห็นกันว่าไม่ควรเรียกชื่ออย่างนั้น เขาจะเรียกไปเสียอย่างอื่นก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เป็นทางทำให้ท่านหลง ด้วยสำคัญว่าชื่อหนึ่งจะเป็นเพลงหนึ่ง แต่ที่จริงเป็นเช่นนั้นก็มี หรือสองชื่อสามชื่อเป็นเพลงหนึ่งก็มี
        ท่านตั้งข้อสงสัยขึ้นในคำหกคะเมนตีลังกา ด้วยอาศัยชื่อเพลงหกคะเมนไต่ลวดเป็นเหตุนั้น เล่นเอาฉันงงไปด้วยไม่เคยคิดถึงเลย คำหกคะเมนก็เคยเขียนอย่างนั้น ไม่ได้นึกว่าคะเมนจะเป็นเขมร และคำตีลังกาก็ได้ยินพวกโขนบอกว่าหกคะเมนนั้นมีสามอย่าง หกหงายไปข้างหลังเรียกว่าตีลังกา หกม้วนไปข้างหน้าเรียกว่าอันธพา หกข้าง ๆ เรียกว่าพาสุริน (เขียนอย่างไรถูกไม่ทราบ ไม่เคยเห็นเขาเขียน เป็นแต่ได้ยินคำเขาบอก สอบตำรับตำราอะไรก็ไม่ได้เรื่อง) เพราะฉะนั้นจึงทำให้นึกคำตีลังกาเป็นชื่อของการหกคะเมนชนิดหนึ่ง ไม่ได้เฉลียวใจว่าจะเป็นหกคะเมนของชาวลังกา แต่คำทักของท่านนั้นประหลาดมาก หากยังคิดไม่เห็น จะเก็บไว้คิดต่อไป
        อันเครื่องประโคมนั้นจะเป็นอย่างใด ๆ ก็มีปัญจดุริยเป็นมูลมาทั้งนั้น จึงควรพิจารณาแยกเป็นสองภาคได้ คือสำหรับหูฟังภาคหนึ่ง สำหรับตาดูภาคหนึ่ง สำหรับหูฟังนั้นจะเป็นเครื่องน้อยสิ่งก็ได้ แต่ต้องเป็นห้าเสียงเท่าดุริย ส่วนสำหรับตาดูนั้นเพิ่มขึ้นให้มากเพื่อให้เห็นงามคึกคัก เพราะเหตุนั้นก็ต้องถือว่าข้างน้อยเป็นของมาก่อน คือกลองคู่หนึ่งเป็นประเดิม ข้างมากมาทีหลัง ในการประโคมศพที่งดไม่ประโคมในเวลา 3 ยามนั้น เป็นการประหยัดโดยเจตนาจะทำการแต่เพียงครึ่งคืนมาก่อน แล้วก็เลยเป็นประเพณีไปเหลว ๆ ถ้าจะทำให้เต็มที่ก็ควรประโคมทุกยามไป
        ท่านอย่าได้เข้าใจว่าพวกปี่พาทย์นั้นทำเพลงอะไรก็ได้ ความจริงก็เป็นแฟชั่น ทำได้แต่เพลงที่เขาทำกันอยู่ดาษดื่นเพื่อให้เป็นคนเท่านั้น เว้นแต่คนที่เขาเรียกกันว่าครูนั่นแหละค่อยรู้อะไรมากออกไปหน่อย
        เพลงเรื่องบัวลอยนั้นไม่มีใครเขาทำกันมานานแล้ว ฉันคิดฟื้นขึ้นให้ทำเมื่อครั้งศพยายคราวหนึ่งแล้ว หาพบแต่พระยาประสาน (แปลก) คนเดียวที่เป็นคนซุกซนจำเนื้อเพลงไว้ได้แม่น เดี๋ยวนี้ก็ตายแล้ว ไม่ใช่ลำบากแต่ที่จะหาคนเล่นไม่ได้ แม้เครื่องเล่นคือเหม่งก็หาไม่ได้ มีแต่ของหลวงสำหรับใช้ตีแห่ก็ต้องไปยืมมา ไม่ใช่ฆ้องอย่างสามัญ รูปเหมือนฆ้อง แต่ทองหนา ไปทางพวกกังสดาล
        เพลงกระบอกซึ่งใช้ทำฉันเพลนั้น ฉันเคยเสาะหาถามครูผู้ใหญ่อกสามศอกก็ไม่มีใครจำได้ พลัดไปได้ที่บางปะอินอันเป็นบ้านนอก เขายังทำกันอยู่ในกรุงเทพฯ จะเป็นฉันเช้าหรือฉันเพลก็ทำเพลงฉิ่งเพลงเดียว ดูเป็นสองชั้น ท่านควรจะเข้าใจอีกว่าเพลงฉิ่งไม่ใช่ชื่อเพลง เป็นเพลงตีกับฉิ่งเท่านั้น ชื่อมีต่างหาก อย่างเดียวกับเพลงกลอง ชื่อก็มีต่างหากเหมือนกัน
        ที่เขาบอกท่านได้ว่าการศพใช้เพลงชื่ออะไรบ้างนั้น ฉันเห็นประหลาดที่สุดที่ยังมีคนรู้ชื่อบอกได้ ลางเพลงฉันไม่เคยได้ยินชื่อมาเลยก็มี แต่เชื่อว่าเขาจำเนื้อเพลงนั้นไม่ได้ หรือจะไม่เคยได้ยินเสียด้วยซ้ำ

นริศ
16 มีนาคม 2482

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
        ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ 16 และที่ 22 มีนาคม รวบ 2 ฉบับ ไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ 
        ที่ทรงพระเมตตาตรัสประทานเรื่องเพลงและเรื่องประโคมมานั้น พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ ความรู้เรื่องตำนานเพลง รู้สึกด้วยเกล้าฯ ว่าเรียวลง ข้าพระพุทธเจ้าได้มีโอกาสซักถามผู้รู้ทางกรมศิลปากรก็รู้เท่าที่จำสืบ ๆ กันมา คงเป็นด้วยผู้รู้รู้แต่การบรรเลงอย่างเดียว การที่จะค้นคว้าจึงหย่อนไป

พระยาอนุมานราชธน
29 มีนาคม 2482

พระยาอนุมานราชธน
        หนังสือของท่าน ลงวันที่ 29 มีนาคม ปีก่อน ได้รับแล้ว
        อันวิชาทำเพลง ก็เหมือนกับวิชาสิ่งอื่น จะจำได้ก็เท่าที่ต้องใช้ ถ้าไม่มีที่ต้องใช้ ถึงแม้จะเคยเรียนมาได้แล้วก็ลืม ลืมหมด หรือจำได้เพียงแต่เป็นกระท่อนกระแท่นต่อกันไม่ติด หากใครจำได้ไว้หมดก็เป็นเทวดา คือหมายความว่าดีกว่ามนุษย์ทั้งปวง แม้แต่เพียงรู้ว่าอะไร แต่ก่อนเขาทำกันอย่างไรเท่านั้นก็เป็นประเสริฐเลิศอยู่แล้ว

นริศ
4 เมษายน 2483

-----------------------------------------------------------------------------------


--------------------------------------------------------------------

แบบทดสอบหลังเรียน

ให้นักเรียนทำแบบทดสอบหลังเรียน จำนวน 5 ข้อ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เรื่อง ชีวประวัติของคีตกวีไทย

หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 เรื่อง การจัดการแสดงดนตรี